พิกัดต้นกำลัง (Prime) กับสำรองฉุกเฉิน (Standby) ต่างกันอย่างไร
คำถามนี้เจอบ่อยมาก ผมยกตัวอย่างของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าโดยทั่วไปที่แต่ละยี่ห้อจำหน่ายจะระบุพิกัดของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดังนี้
เช่น รุ่น C18 ของ Caterpillar ขนาด 550 เควีเอ 440 กิโลวัตต์ พิกัดแบบสำรองฉุกเฉิน (Standby Rating) หรือ 500 เควีเอ 400 กิโลวัตต์ พิกัดแบบต้นกำลัง (Prime Rating)
และ3456 ของ Caterpillar ขนาด 500 เควีเอ 400 กิโลวัตต์ พิกัดแบบสำรองฉุกเฉิน (Standby Rating) หรือ 455 เควีเอ 364 กิโลวัตต์ พิกัดแบบต้นกำลัง (Prime Rating)
จะสังเกตเห็นว่าพิกัดต้นกำลัง (Prime Rating) กับสำรองฉุกเฉิน (Standby Rating) ค่าเควีเอจะต่างกันอยู่ 10% คล้าย ๆ เป็นการเผื่อไว้ เนื่องจากเครื่องที่ใช้งานแบบต้นกำลัง (Prime) จะค่อนข้างทำงานหนักกว่าสำรองฉุกเฉิน (Standby) ดังนั้นจึงลดค่าพิกัดการเดินให้ต่ำลง
เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพิกัดสำรองฉุกเฉินกับพิกัดต้นกำลัง
โดยทั่วไปเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบ่งพิกัดตามการใช้งาน ดังนี้
1. พิกัดแบบสำรองฉุกเฉิน (Standby Rating) ใช้สำหรับหน่วยงานที่มีไฟหลวงใช้งานอยู่แล้ว และต้องการใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองในขณะที่ไฟดับ เช่น ฟาร์ม, โรงงาน, โรงพยาบาล, ศูนย์การค้า, อาคารสูง เป็นต้น ซึ่งโหลดอาจมีการเปลี่ยนแปลงขึ้น ๆ ลง ๆ และควรเดินที่โหลดเฉลี่ยประมาณ 70%
2. พิกัดแบบต้นกำลัง (Prime Rating) โดยทั่วไปจะถูกนำไปใช้ในสถานที่ที่ไฟหลวงยังเข้าไม่ถึง ใช้เดินเครื่องตลอดเวลา ซึ่งโหลดอาจมีการเปลี่ยนแปลงขึ้น ๆ ลง ๆ และควรเดินที่โหลดเฉลี่ยประมาณ 70%
3. พิกัดต่อเนื่อง (Continuous Rating) โดยทั่วไปจะใช้น้อยเนื่องจากพิกัดดังกล่าวใช้สำหรับโรงไฟฟ้า (Power Plant) ที่เดินจ่ายโหลดคงที่ต่อเนื่อง
ดังนั้นควรเลือกพิกัดกำลังให้เหมาะสมสำหรับการใช้งานนะครับ